ตลาดหุ้นทั่วโลกเดินหน้าพุ่งทะยานสู่จุดสูงสุดใหม่ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นที่น่าทึ่งของตลาด รวมถึงท้าทายความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และสัญญาณทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 1.23% สู่ระดับ 4,839.81 ทำลายสถิติจุดสูงสุดตลอดกาลในปี 2022 ได้สำเร็จ ในขณะเดียวกันดัชนี Nasdaq Composite ที่เน้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็ได้รับอานิสงส์เช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.70% เป็นการซื้อขายกันเหนือจุดสูงสุดเดิมได้อย่างมั่นคง ซึ่งโมเมนตัมด้านบวกนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการได้แรงหนุนจากกำไรที่สูงขึ้นของบริษัทต่างๆ และตัวเลขการบริโภคที่ออกมาอย่างสวยงาม ส่งสัญญาณของการเริ่มต้นซื้อขายในปี 2024 ได้อย่างแข็งแกร่ง
อัปเดตข่าวสำคัญ
Nasdaq Composite และ Nasdaq-100 พุ่งทะยาน: แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดย Nasdaq Composite ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 15,310.97 ในขณะเดียวกัน Nasdaq-100 ซึ่งเน้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากขึ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.95% เป็นการทำสถิติสูงสุดเช่นเดียวกัน ตอกย้ำการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของภาคเทคโนโลยีและความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ตลาดหุ้นยุโรปเคลื่อนไหวผสมผสาน: ดัชนี Stoxx 600 ปิดสูงขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงความเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันของหุ้นในกลุ่มต่างๆ โดยหุ้นกลุ่มธนาคารค่อนข้างทรงตัว ในขณะที่หุ้นกลุ่มยานยนต์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย
ราคาน้ำมันดิบดีดตัวสูงขึ้น: ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ปรับลดลงมาระยะหนึ่ง โดยน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 75 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันนี้เป็นผลมาจากปริมาณสต๊อกน้ำมันสำรองของสหรัฐฯ ที่ลดลง และการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง: จากข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 190,000 ราย รวมถึงตัวเลขค่าจ้างภาคเอกชนที่แข็งแกร่งยังเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งบ่งบอกถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ
นักลงทุนให้ความสนใจใน Bitcoin ETF อย่างล้นหลาม: กองทุน bitcoin ETF ของสหรัฐฯ ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ได้ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนอย่างล้นหลาม โดยเห็นได้จากเม็ดเงินทุนจำนวนถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์ ที่ไหลเข้าสู่กองทุน bitcoin ETF ทั้งหมด 9 กองทุน ในเวลาเพียงสามวันของการซื้อขาย ซึ่งกองทุนที่เป็นผู้นำในเวลานี้คือ Bitcoin ETF ของ BlackRock ที่มีเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ตามมาติดๆ ด้วยกองทุน Bitcoin ETF ของ Fidelity ที่สินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 880 ล้านดอลลาร์
FX วันนี้
EUR/USD ยังคงผันผวนจากการคาดการณ์นโยบายการเงิน: คู่เงิน EUR/USD เผชิญความผันผวนในสัปดาห์นี้ โดย EUR/USD เคลื่อนไหวอยู่บริเวณแนวรับ 1.0850 จากอิทธิพลของการคาดการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป รวมถึงปฏิกิริยาของตลาดต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนักลงทุนควรจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 1.0950 และแนวรับที่ 1.0787 ตามลำดับ
คู่เงิน GBP/USD ซื้อขายอยู่ในกรอบท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจที่หลากหลาย: เงินปอนด์อังกฤษที่ซื้อขายเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังซื้อขายกันอยู่ในกรอบ ซึ่งจากความเคลื่อนไหวในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าทั้งคู่เงินอาจยังคงแกว่งไปมาในกรอบระหว่าง 1.26007 และ 1.28288 โดยมีแนวรับหลักอยู่ที่บริเวณ 1.2600 และแนวต้านที่บริเวณ 1.27600 โดยการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของคู่เงิน
AUD/USD ปรับตัวสูงขึ้นจากมุมมองในเชิงบวก: เงินดอลลาร์ออสเตรเลียมีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เป็นการปรับเพิ่มขึ้น 0.34% และยังสามารถฝ่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ที่บริเวณ 0.6579 การฟื้นตัวครั้งนี้บ่งบอกถึงมุมมองในเชิงบวกของตลาด ซึ่งสวนทางกับตัวเลขรายงานตลาดที่อยู่อาศัยที่อ่อนแอ โดยแนวต้านถัดไปที่ควรจับตาอยู่ที่บริเวณ 0.6600 ทำให้คู่เงินยังคงอยู่ในแนวโน้มที่เป็นกลางหรือเป็นขาขึ้น
USD/JPY ตอบสนองต่อข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น: คู่เงิน USD/JPY ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก โดยเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของญี่ปุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นการชะลอตัวลงสู่ 2.6% ในเดือนธันวาคม ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตร JGB อายุ 10 ปี ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนที่ 0.673% ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงิน
USD/CAD เผชิญแนวต้าน: คู่เงิน USD/CAD ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี 2023 จนเผชิญกับแนวต้านใกล้ระดับ 1.3540 ซึ่งมุมมองในระยะสั้นของคู่เงินยังคงเป็นบวกตราบใดที่ยังซื้อขายอยู่เหนือเส้น SMA 200 วัน ที่ 1.3475 แต่ในกรณีที่คู่เงินสามารถฝ่าเส้น SMA ลงมาได้ อาจส่งสัญญาณของการกลับตัว ในขณะที่ถ้าคู่เงินสามารถซื้อขายเหนือระดับ 1.3540 ได้สำเร็จก็อาจปูทางไปสู่การปรับตัวสูงขึ้นต่อไป
ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น
หุ้น Nvidia พุ่งขึ้นอย่างน่าทึ่ง: หุ้น NVDA (Nvidia) ปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 20% ในช่วง 13 วันทำการแรกของปี 2024 หรือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 8% ในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งราคาหุ้นสามารถแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 591.99 ดอลลาร์ เป็นการเพิ่มขึ้น 19.5% นับจากราคาปิดของปี 2023 โดยการปรับตัวขึ้นในครั้งนี้สอดคล้องกับความสนใจของนักลงทุนในภาคเทคโนโลยี AI และเซมิคอนดักเตอร์
หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์พุ่งขึ้นนำตลาด: ราคาหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์มีการปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น นำโดย Advanced Micro Devices (AMD) ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 7% นอกจากนี้ Broadcom (AVGO) และ Lam Research (LRCX) ก็สามารถปรับตัวขึ้นได้กว่า 5% เช่นกัน ซึ่งการพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงของหุ้นผู้ผลิตชิปเกิดขึ้นหลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co (TSMC) จะกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาสนี้
บริษัท Travelers รายได้พุ่ง: หุ้นของบริษัท Travellers (TRV) ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 6% จากรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากเบี้ยประกันภัยสุทธิในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 9.99 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 9.93 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นนี้เป็นการสะท้อนมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนที่มีต่อสถานภาพทางการเงินของบริษัท
Texas Instruments: หุ้นของ Texas Instruments (TXN) ปิดพุ่งขึ้นมากกว่า 4% หลังจาก UBS ปรับคำแนะนำจาก neutral มาเป็น buy โดยมีราคาเป้าหมายอยู่ที่ $195 ซึ่งการปรับคำแนะนำครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพในการเติบโตของบริษัท
นักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมาย Truist Financial : หุ้นของ Truist Financial (TFC) ปิดพุ่งขึ้นกว่า 4% หลังจากนักวิเคราะห์ได้ปรับราคาเป้าหมายของหุ้นให้สูงขึ้น 17% ตามผลประกอบการรายไตรมาส ซึ่งการปรับราคาเป้าหมายครั้งนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อผลการดำเนินงานในอนาคตของสถาบันการเงินรายนี้
หุ้นกลุ่มประกันสุขภาพเผชิญแรงขาย: หุ้นกลุ่มประกันสุขภาพปรับตัวลดลง นำโดยหุ้นของ Molina Healthcare (MOH) ที่อยู่ในดัชนี S&P 500 ปิดลดลงกว่า 4% ส่วนหุ้นของ Humana (HUM) และ Centene (CNC) ก็ปรับลดลงกว่า 2% เช่นกัน โดยการปรับลดลงครั้งนี้สะท้อนถึงความกังวลที่มีต่อแนวโน้มการทำกำไรในอนาคตของหุ้นกลุ่มนี้
สายการบินได้รับผลกระทบความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์: หุ้นของ Delta Air Lines (DAL) ปิดลดลงกว่า 2% หลังจากที่สายการบินประกาศยกเลิกเที่ยวบินไปยังเทลอาวีฟจนถึงเดือนเมษายน ส่วนหุ้นของ United Airlines Holdings (UAL) และ American Airlines Group (AAL) ก็ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งนี้เช่นกัน
หุ้น PPG Industries ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ผลประกอบการที่ไม่สดใส: หุ้นของ PPG Industries (PPG) ปิดลดลงกว่า 2% หลังจากที่นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ในไตรมาสที่ 1 จากความท้าทายที่เกิดขึ้นในภาคการผลิต
หุ้น iRobot ดิ่งลงหลังถูกคว่ำแผนการเข้าซื้อกิจการ: หุ้นของ iRobot (IRBT) ดิ่งลงอย่างรุนแรง โดยราคาหุ้นลดลงกว่า 25% หลังมีรายงานว่าหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของสหภาพยุโรปมีแผนที่จะขัดขวางการเข้าซื้อกิจการโดย Amazon ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของหน่วยงานกำกับดูแลที่ส่งผลถึงกลยุทธ์ของบริษัทต่างๆ
ในขณะที่วันทำการอันแสนวุ่นวายของตลาดสิ้นสุดลง มีหลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตลาด ทั้งการพุ่งขึ้นทำลายสถิติของดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ควบคู่ไปกับการแสดงความแข็งแกร่งของ Dow ที่เป็นผลมาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัท เป็นการส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อสภาพเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาพของการพุ่งขึ้นของหุ้นและดัชนีนี้อาจมีบางอย่างซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัวหรือแนวโน้มของหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งสะท้อนภาพของตลาดที่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยของข้อมูลทางเศรษฐกิจ, การตัดใจเชิงนโยบาย รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในระดับโลก นักลงทุนควรจะมีทั้งความคาดหวังและความระแวดระวัง รวมถึงมีกลยุทธ์ที่พร้อมตอบสนองต่อตลาดการเงินที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ไม่หยุดนิ่ง