วิกฤติการเงิน (Financial crisis) คืออะไร

ข้าพเจ้าสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของวัตถุบนสรวงสวรรค์ แต่ไม่อาจคำนวณความบ้าคลั่งของผู้คน

  • ไอแซค นิวตัน

วิกฤติการเงิน คือปรากฏการณ์ที่สินทรัพย์บางชนิดหรือหลายชนิดเกิดการสูญเสียมูลค่าของตัวเองอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้คนทั่วไป บริษัท หรือองค์กรจำนวนมากที่ถือครองสินทรัพย์ดังกล่าวมีความมั่งคั่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจถึงขั้นที่ทำให้หลายคนหมดตัว หลายบริษัทขาดสภาพคล่องในเวลาเดียวกัน

ผลกระทบโดยทั่วไปเมื่อมีคนหรือบริษัทจำนวนมากหมดตัวพร้อมๆ กันก็คือคนหรือบริษัทจำนวนมากไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้คืนให้ธนาคารหรือเจ้าหนี้ ทำให้ธนาคารมีหนี้เสียเป็นจำนวนมาก (วิกฤติลุกลามมาถึงภาคธนาคาร) จนถึงขั้นขาดสภาพคล่องจนต้องชะลอการปล่อยกู้ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจขาดแคลนเงินสดสำหรับทำธุรกิจจนอาจต้องปิดกิจการ (วิกฤติลุกลามออกนอกภาคการเงิน) ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ มีคนหมดตัวมากขึ้น คนที่ไม่หมดตัวก็ไม่มีกำลังจะซื้อของ ทำให้บริษัทขายของไม่ได้จนมีบริษัทที่ต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้น ธนาคารก็จะมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนบางธนาคารอาจถึงขั้นล้มละลาย ซึ่งวิกฤติการเงินสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงิน

วิกฤติการเงินแต่ละครั้งเกิดจากสาเหตุที่หลากหลายและเฉพาะตัวตามแต่ละสินทรัพย์ที่เกิดวิกฤต ตั้งแต่การตื่นตระหนกของนักลงทุนที่พากันเทขายหุ้น, การเก็งกำไรสินทรัพย์บางอย่าง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่ดอกทิวลิปอย่างบ้าคลั่งจนราคาพุ่งขึ้นสูงไปถึงดวงจันทร์อย่างไร้เหตุผล, นโยบายและการจัดการที่ผิดพลาดของภาครัฐ, การกำกับดูแลภาคธนาคารที่หย่อนยาน, หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงมหาศาลซ่อนอยู่ 

ถึงแม้วิกฤติแต่ละครั้งจะมีสาเหตุที่หลากหลายและค่อนข้างเฉพาะตัว รวมถึงมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน แต่วิกฤติส่วนใหญ่ก็จะมีหลายปัจจัยที่มีความเหมือนหรือคล้ายกันจนเราพอที่จะจัดประเภทของวิกฤติการเงินได้แบบคร่าวๆ 

ประเภทของวิกฤติการเงิน 

วิกฤติค่าเงิน – เกิดจากการที่เงินสกุลหนึ่งเกิดการสูญเสียมูลค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ เนื่องมาจากเหตุผลต่างๆ กัน ทั้งการถูกโจมตีค่าเงิน, การขาดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล, หนี้สินภาครัฐที่สูงจนเกินไป, การขาดดุลการค้าอย่างหนักและต่อเนื่องมายาวนานหลายปี, การขาดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ใช้ค้ำประกันค่าเงิน ซึ่งผลที่ตามมาคือค่าเงินสกุลนั้นๆ จะด้อยค่าลงอย่างรวดเร็ว คนมีเงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง สินค้าจำเป็นหรือวัตถุดิบในการผลิตที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นมาก และหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ เช่น หนี้ที่กู้มาในสกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงขึ้นจนกระทบกับภาคการเงิน ในบางครั้งหากสถานการณ์รุนแรงมากก็อาจส่งผลกระทบแม้แต่กับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล หรือกรณีเลวร้ายที่สุดคือรัฐบาลอาจถึงขั้นต้องผิดนัดชำระหนี้จนกระทบความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้นไปอีก

โดยทั่วไปแล้ววิกฤติค่าเงินจะส่งผลกระทบหนักที่สุดกับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากต่างประเทศ

วิกฤติฟองสบู่ – วิกฤติฟองสบู่เกิดจากการที่สินทรัพย์หนึ่ง เช่น อสังหาริมทรัพย์, หุ้น หรือคริปโทเคอร์เรนซีเกิดการเก็งกำไรจนมีมูลค่าสูงขึ้นผิดปกติอย่างรวดเร็วเกินปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์นั้นๆ ไปมาก จนวันหนึ่ง ราคาไม่สามารถพุ่งขึ้นสูงกว่านั้นได้อีกต่อไปและตกลงอย่างรวดเร็วเพราะไม่มีใครมีเงินมากพอจะดันราคาให้ไปต่อ หรือที่เรียกกันว่า “ฟองสบู่แตก” มีแต่คนอยากขายสินทรัพย์ออกแต่ไม่มีคนอยากซื้อหรือมีกำลังพอจะซื้อไหว ซึ่งเมื่อราคาสินทรัพย์ตกลงอย่างรวดเร็วก็จะทำให้ความมั่งคั่งของคนหรือสถาบันที่ถือสินทรัพย์นั้นอยู่ลดลงอาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะเงินที่เอาไปลงทุนกับสินทรัพย์ที่เกิดฟองสบู่ไว้หายไปหมดในพริบตา

ภาพประกอบ: The South Sea Bubble ในปี 1720 วาดโดย Edward Matthew Ward *ขอขอบคุณภาพจาก Tate Gallery

แม้แต่ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ก็ยังเคยเสียเงินก้อนใหญ่ในวิกฤติฟองสบู่หุ้น South Sea (South Sea Bubble) ซึ่งถือเป็นวิกฤติครั้งแรกที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น จนถึงกับคร่ำครวญออกมาว่า “ข้าพเจ้าสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของวัตถุบนสรวงสวรรค์ แต่ไม่อาจคำนวณความบ้าคลั่งของผู้คน” วิกฤติฟองสบู่มักจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ลุกลามไปสู่วิกฤติแบบอื่นๆ เช่น วิกฤตธนาคาร หรือวิกฤติเศรษฐกิจในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคต่อไป

วิกฤติธนาคาร – คือการที่เกิดเหตุการณ์บางอย่างจนธนาคารไม่มีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงหรือเงินสดเพียงพอจะรองรับการที่ลูกค้าจำนวนมากแห่มาถอนเงินสดในปริมาณมากพร้อมๆ กันจนผิดปกติ (bank run) จนต้องล้มละลายหรือปิดกิจการไป และเมื่อธนาคารหนึ่งต้องปิดกิจการไป ความตื่นตระหนกก็จะเกิดขึ้น ในกรณีเลวร้ายหรือภาครัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ผู้คนจะรีบแห่ไปถอนเงินสดจากธนาคารอื่นๆ ด้วยความกลัวว่าธนาคารที่ตัวเองใช้ก็อาจมีปัญหาเช่นกัน ทำให้ปัญหาการ bank run ลุกลามไปสู่ธนาคารอื่นๆ ด้วยในที่สุด

ซึ่งปกติแล้ววิกฤติธนาคารมักจะเป็นสิ่งที่เกิดตามมาจากวิกฤติอื่นๆ เช่น วิกฤติฟองสบู่ วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ หรือวิกฤติค่าเงิน และเป็นตัวที่ช่วยขยายผลกระทบซ้ำเติมวิกฤติที่เกิดขึ้นให้ขยายตัวออกไปในวงกว้างหรือออกนอกภาคการเงิน

การรับมือกับวิกฤติ

การรับมือและแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เนื่องจากถึงแม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน แต่วิกฤติแต่ละครั้งก็มักเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน การแก้วิกฤติจึงมักจะต้องอาศัยวิธีการและเครื่องมือเฉพาะเพื่อแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาควบคู่ไปกับการเสริมสภาพคล่องเพื่อประคับประคองระบบเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ต้องคิดวิธีการและเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรับมือและควบคุมวิกฤติที่เกิดขึ้น

ในวิกฤติการเงินยุคแรกๆ เช่น วิกฤติฟองสบู่ดอกทิวลิป หรือวิกฤติฟองสบู่หุ้น South Sea ยังมีความรุนแรงที่ไม่มากนัก ถึงจะมีคนหมดตัว แต่ผลกระทบก็ถือว่าอยู่ในวงจำกัด ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษในการรับมือ อาจมีเพียงการสั่งห้ามซื้อขายดอกทิวลิป หรือห้ามซื้อขายหุ้นชั่วคราว และลากคอผู้รับผิดชอบมาลงโทษ

แต่วิกฤติเศรษฐกิจในยุคหลังเริ่มรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง อย่างเช่นวิกฤติ The Great Depression ในปี 1929 ที่รุนแรงจนทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องออกโรงมาจัดการกับวิกฤติด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลและผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤติการเงินดีนัก ทำให้ในช่วงแรกของ The Great Depression รัฐบาลสหรัฐฯ มีการออกมาตรการรับมือวิกฤติที่เชื่องช้าและไม่ตรงเป้า กว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะรู้ตัวถึงความร้ายแรงของวิกฤติที่เกิดขึ้น และเริ่มออกมาตรการต่างๆ ที่ถือเป็น “ยาแรง” เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติอย่างจริงจังก็ต้องรอถึงปี 1933 เมื่อมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีมาเป็น ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลต์ จึงมีการใช้นโยบายและออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อพยายามแก้วิกฤติอย่างจริงจังจนสามารถพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาได้ในที่สุด 

ภาพประกอบ: แรงงานที่ตกงานในช่วง The Great Depression มาชุมนุมประท้วงกันที่หน้าศาลาว่าการเมืองซีแอตเทิล ถ่ายโดย James P. Lee, Courtesy UW Special Collections (LEE264) *ขอขอบคุณภาพจาก historylink.org

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลาง รวมถึงหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ จะมีประสบการณ์ที่เผชิญกับวิกฤติการเงินมาแล้วหลายครั้ง ลองผิดลองถูกมาก็มาก มีการศึกษาแง่มุมต่างๆ ของวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นอย่างละเอียดเพื่อถอดบทเรียนและหาทางป้องกัน ทำให้หลายคนคิดว่าวิกฤติการเงินเป็นเรื่องล้าสมัยเพราะเรารู้จักมันดีพอ และมีบทเรียนมากพอที่จะป้องกันและรับมือมันได้ แต่ในความเป็นจริงวิกฤติการเงินก็ไม่เคยหายไปไหน และยังส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของทั้งโลกมีความเกี่ยวโยงและพึ่งพากันและกันมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลให้วิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงไปถึงประเทศอื่น หรือแม้แต่ลุกลามไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

ในตอนต่อไป เราจะพาคุณไปรู้จักกับตัวอย่างของวิกฤติการเงินสมัยใหม่ที่ถือว่ามีความซับซ้อนและร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติ The Great Depression ในปี 1929 นั่นคือวิกฤติซับไพร์ม (Subprime crisis) หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger crisis) ในปี 2008 ที่เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่และความโลภของมนุษย์เกือบทำให้ระบบทุนนิยมที่เรารู้จักต้องถึงคราวล่มสลายกับบทความพิเศษ 

วิกฤติการเงิน (Financial crisis) คืออะไร Part 2: เจาะลึกวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008

เมื่อวิกฤติสมัยใหม่ที่เกิดจากความโลภ ตราสารการเงินที่ซับซ้อน และการกำกับดูแลที่หย่อนยานเกือบทำให้ทุนนิยมต้องพบกับจุดจบ

เร็วๆ นี้

อ้างอิงจาก

https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/13win/win8.pdf

https://www.thaibma.or.th/pdf/Article/Credit%20Default%20Swap%20(CDS).pdf

https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-65-2/VocabStory-65-2.html

https://lit.human.ku.ac.th/past/web_new51/edit_pdf/Great%20Depression.pdf