ทำไมสหรัฐถึงมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้?

รัฐบาลสหรัฐก็เหมือนกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่มีการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาล และใช้วิธีการ Roll over พันธบัตร หรือการออกขายพันธบัตรรุ่นใหม่เพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้พันธบัตรที่ครบกำหนดชำระหนี้

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อสหรัฐมีสิ่งที่เรียกว่า “เพดานหนี้” หรือมูลค่าหนี้สูงสุดที่รัฐบาลจะสามารถกู้ยืมได้ ซึ่งถ้ามูลค่าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐมาถึงเพดานหนี้ที่กำหนดเมื่อไหร่ รัฐบาลก็จะไม่สามารถออกพันธบัตรรุ่นใหม่เพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้พันธบัตรรุ่นเก่าที่ครบกำหนดชำระหนี้ได้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ (default) 

กลไกการคิดดอกเบี้ยของพันธบัตร

พันธบัตรรัฐบาลคือการกู้เงินรูปแบบหนึ่ง และการกู้ยืมเงินต้องมีการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการชำระหนี้ของลูกหนี้

เช่น ถ้าเราจะให้คนที่มีความเสี่ยงว่าอาจผิดนัดชำระหนี้กู้เงิน เราก็ต้องการผลตอบแทน(ดอกเบี้ย) ที่สูงขึ้นเพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยง แต่ถ้าเราจะให้ลูกหนี้ชั้นดี เครดิตดี จ่ายเงินคืนตรงเวลาตลอดกู้เงิน เราจะเรียกดอกเบี้ยต่ำลงเพราะเรามั่นใจว่าลูกหนี้คนนี้จะจ่ายหนี้ตรงเวลาแน่ๆ 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้?

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ทำให้รัฐบาลสหรัฐมีต้นทุนการกู้ยืมเงินที่ต่ำมาก (จ่ายดอกเบี้ยต่ำ) และราคาของสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ นั้นมีการเกี่ยวพันหรืออ้างอิงกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ ผลลัพธ์ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเกิดขึ้นคือต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลสหรัฐจะพุ่งขึ้นทันที และส่งผลกระทบกับราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกที่มีความเกี่ยวข้องหรืออ้างอิงกับผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ต้นทุนในการกู้ยืมเงินทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้น รวมถึงกระทบความเชื่อมั่นในระบบการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะสินทรัพย์ที่เคยคิดว่าปลอดภัยที่สุดไม่ได้ปลอดภัยเท่าที่คิด

ตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลกเนื่องจากสหรัฐมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักสำหรับการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นเงินทุนสำรองในคลังของหลายๆ ประเทศ 

สหรัฐจะหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้หรือไม่?

ได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนี้สหรัฐชนเพดานหนี้และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย สหรัฐเคยเผชิญปัญหาเพดานหนี้มาก่อน และมีการขยายเพดานหนี้หลายครั้งในอดีต การขยายเพดานหนี้มักจะถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองจนทำให้การอนุมัติขยายเพดานหนี้ออกมาก่อนเส้นตายแบบเฉียดฉิวเสมอ รวมถึงครั้งนี้ที่การเพิ่มเพดานหนี้ถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อรองให้รัฐบาลไบเดนต้องลดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางจนต้องมีการเจรจากันหลายครั้งเพื่อบรรลุข้อตกลงการปรับเพิ่มเพดานหนี้

*บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น (และไม่ควรถือว่าเป็น) คำแนะนำทางการเงิน การลงทุน หรือคำแนะนำอื่นๆ, INFINOX ไม่ได้รับอนุญาตในการให้คำแนะนำการลงทุน ไม่มีความเห็นใดในเนื้อหาที่ถือว่าเป็นคำแนะนำจาก INFINOX หรือผู้เขียนบทความที่ถือว่าเป็นกลยุทธ์การลงทุน, การทำธุรกรรมหรือการลงทุนเฉพาะใด ๆ นั้นเหมาะสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น

อ้างอิง

  1. https://www.telegraph.co.uk/business/2023/05/09/us-debt-ceiling-what-means-economy-biden/
  2. https://edition.cnn.com/2023/05/11/economy/debt-ceiling-trump-fact-check/index.html
  3. https://www.moneybuffalo.in.th/economy/if-the-usa-defaults-on-debt-payments-shaking-the-whole-world
  4. https://www.infoquest.co.th/2023/301709