ทุกคนเคยใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน บางคนใช้เงินสด บางคนใช้บัตร บางคนใช้โอนเงินด้วยสมาร์ตโฟน บางคนทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้เงิน หรือแม้แต่แสวงหาเงินด้วยวิธีที่ผิด แต่เราเคยหยุดคิดแล้วสงสัยกันไหม ว่าอะไรทำให้เงินมีค่าอย่างที่มันเป็น? หรืออะไรที่ทำให้ตัวเลขในหน้าบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่หน้าจอสมาร์ตโฟนนั้นมีความพิเศษกว่าตัวเลขอื่นๆ? 

INFINOX จะพาคุณไปรู้จักกับที่มาของระบบการเงิน ระบบที่ทำให้ตัวเลขในบัญชีของคุณมีความหมาย

ระบบการเงินยุคแรกของประวัติศาสตร์

ในยุคโบราณที่มนุษย์เริ่มแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ใครบางคนในยุคนั้นเริ่มคิดถึงการใช้ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่ทุกคน หรืออย่างน้อยคนที่เราทำการค้าขายด้วยยอมรับว่ามีมูลค่าขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้า โดยตัวกลางในยุคแรกอาจเป็นเปลือกหอย เครื่องประดับ หนังสัตว์ พัฒนามาเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดก็ใช้โลหะ เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง มาเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย ด้วยความที่หายาก ผลิตยาก มีราคา เก็บง่าย และทนทาน โดยมูลค่าของเหรียญเงินจะขึ้นอยู่กับปริมาณของโลหะที่ใช้สร้างเหรียญนั้นขึ้น หรือพูดอีกอย่างก็คือปริมาณเนื้อโลหะที่ใช้สร้างเหรียญนั้นขึ้นคือสิ่งที่ทำให้เหรียญมีค่า 

ยุคแห่งเงินกระดาษและมาตรฐานทองคำ

หลังจากที่ใช้โลหะ(เหรียญ) ในการแลกเปลี่ยนมาพักใหญ่ๆ พ่อค้าหลายคนก็เจอข้อจำกัดว่าเงินโลหะทั้งน้ำหนักมาก พกยาก จึงได้มีการนำทรัพย์สินมีค่า โลหะ ทองคำ มา “ฝาก” ไว้กับบุคคลหรือห้างร้านต่างๆ ที่ทุกคนให้ความเชื่อถือ และบุคคลนั้นจะออก “ตั๋วรับฝาก” หรือ “ตั๋วแลกเงิน” ให้กับผู้ฝาก พร้อมรับประกันว่าผู้ที่ถือตั๋วนี้จะสามารถนำตั๋วมาแลกคืนเป็นเงินหรือของมีค่าที่ฝากไว้ได้เสมอ ซึ่งคนก็มักจะใช้ตั๋วนี้แทนเงินโลหะในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ด้วยความที่พกง่าย น้ำหนักเบา เก็บง่ายกว่าเงินที่เป็นโลหะ ทำให้นี่คือการกำเนิดของเงินกระดาษในยุคแรก ที่ของมีค่าที่เราฝากไว้กับผู้ออกตั๋วแลกเงินคือสิ่งที่ทำให้กระดาษใบหนึ่งมีค่ามากกว่ากระดาษใบอื่นๆ ซึ่งระบบตั๋วแลกเงินนี้เป็นรากฐานและพัฒนาต่อเนื่องมาจนกลายเป็นระบบ “มาตรฐานทองคำ” ที่เราคุ้นเคยในที่สุด

ระบบมาตรฐานทองคำก็คือระบบการเงินที่รัฐบาลทำการ “ตรึง” มูลค่าของเงินที่พิมพ์ออกมาไว้กับทองคำในอัตราตายตัว และรับประกันว่าใครก็ตามที่ถือธนบัตรและเหรียญที่รัฐบาลนั้นสร้างขึ้นสามารถนำธนบัตรและเหรียญมาแลกเป็นทองคำจากคลังของรัฐบาลได้ตามมูลค่าที่กำหนดไว้ หรือพูดอีกอย่างก็คือธนบัตรและเหรียญคือตั๋วแลกทองสมัยใหม่ ซึ่งทองคำสำรองในคลังของรัฐบาลคือสิ่งที่ทำให้ธนบัตรและเหรียญที่รัฐบาลเป็นผู้ออกมีค่า อย่างไรก็ตาม ระบบมาตรฐานทองคำนี้ก็มีข้อจำกัด คือรัฐบาลสามารถพิมพ์เงินออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากเท่ากับปริมาณทองคำสำรองที่มีในคลังเท่านั้น หรือก็คือปริมาณเงินในระบบมีจำนวนจำกัด

Bretton Woods ระบบมาตรฐานทองคำสมัยใหม่

ในปี 1944 ซึ่งนับเป็นอีกปีสำคัญของระบบการเงินโลก ผู้แทนจาก 44 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม “United Nations Monetary and Financial Conference” ที่ Bretton Woods, รัฐนิวแฮมเชียร์, ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างมาตรฐานระบบการเงินระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสำหรับส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้ให้กำเนิดข้อตกลง Bretton Woods agreement หรือ “ระบบ Bretton Woods” ที่เรียกได้ว่าเป็นระบบมาตรฐานทองคำสมัยใหม่ โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีทองคำสำรองในคลังเยอะที่สุดในเวลานั้นจะรับหน้าที่เป็นผู้ตรึงมูลค่าของเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ พร้อมรับประกันว่าใครก็ตามที่ถือดอลลาร์สามารถนำมาแลกเป็นทองคำจากคลังของรัฐบาลสหรัฐในอัตรา 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อทองคำ 1 ออนซ์ 

ส่วนประเทศอื่นๆ ก็จะทำการเก็บเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ในคลังในฐานะสินทรัพย์สำรองเพื่อ “ตรึง” ค่าเงินของตนเองไว้กับดอลลาร์(ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นทองคำ) ต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งบางคนเรียกระบบนี้ว่า “มาตรฐานทองคำเทียม” (pseudo-gold standard) ที่ทองคำในคลังของสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์มีค่า ส่วนเงินดอลลาร์(ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นทองคำ) ก็ทำให้เงินสกุลอื่นๆ มีค่า

ข้อตกลง Bretton Woods ยังได้สร้างบทบาทใหม่ให้กับเงินดอลลาร์ในฐานะมาตรฐานใหม่สำหรับการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นสกุลเงินสำรองที่เกือบทุกชาติต้องมีเก็บไว้ในคลัง นอกจากนี้ข้อตกลงนี้ยังได้ให้กำเนิด 2 องค์กรระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ได้แก่  IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก 

จุดจบของระบบ Bretton Woods และมาตรฐานทองคำ

หลายสิบปีที่ระบบ Bretton Woods ช่วยส่งเสริมการค้าและการเงินระหว่างประเทศและทำให้ค่าเงินต่างๆ มีเสถียรภาพ โลกได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมายในช่วงสงครามเย็น สหรัฐและประเทศต่างๆ มีการใช้จ่ายเงินมหาศาลไปกับด้านความมั่นคง และการแข่งขันในด้านต่างๆ กับสหภาพโซเวียต จนในช่วงสิ้นสุดทศวรรษ 1960 ก็เริ่มชัดเจนว่าสหรัฐไม่มีทองคำเพียงพอที่จะรองรับเงินทุกดอลลาร์ที่พิมพ์ออกมาตามข้อตกลง Bretton Woods อีกต่อไป 

จุดจบของระบบ Bretton Woods เริ่มขึ้นในปี 1971 ประธานาธิบดีนิกสันได้ออกมาประกาศการปรับอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์/ทองคำ จากเดิมที่ 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปเป็นที่ 38 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รวมถึงยกเลิกการรับประกันการแลกดอลลาร์เป็นทองคำจากคลังของรัฐบาลจนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Nixon shock” ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างมาก

ผลที่เกิดขึ้นทำให้หลายประเทศค่อยๆ ยกเลิกการตรึงมูลค่าสกุลเงินไปตามๆ กัน เพราะรัฐบาลมีทองคำในคลังไม่เพียงพอสำหรับปริมาณเงินทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ จนทำให้ระบบ Bretton Woods ล่มสลาย เงินตราสูญเสียมูลค่าในฐานะตั๋วแลกทองคำของรัฐบาลไปในที่สุด แต่แล้วอะไรล่ะที่ทำให้เงินตราในสกุลต่างๆ ยังคงมีมูลค่าอย่างที่มันเป็น?

การผงาดของเงิน Fiat และยุคแห่งการ “มันจะเป็นแบบนั้น”

ในทศวรรษ 1980 โลกก็เปลี่ยนแปลงระบบการเงินระหว่างประเทศ และกำหนดมาตรฐานที่ทำให้เงินมีค่าใหม่อีกครั้ง นั่นคือระบบที่เรียกว่า “Fiat” หรือ “Fiat Money” 

Fiat มาจากภาษาละตินที่มีความหมายว่า “มันจะเป็นแบบนั้น” (it shall be) หมายถึงเงินที่มีค่าเพราะรัฐบาลกำหนดให้มันเป็นแบบนั้น 

ในระบบ Fiat สิ่งที่มอบมูลค่าให้กับธนบัตรในกระเป๋าและตัวเลขบัญชีในธนาคารของเราไม่ใช่ทองคำหรือสินทรัพย์ที่มีตัวตนอื่นๆ อีกต่อไป แต่เป็นการที่รัฐบาลรับประกันว่าเงินนี้สามารถชำระหนี้และแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าต่างๆ ได้ตามกฎหมาย รวมถึงอุปสงค์-อุปทานของตัวสกุลเงินนั้นๆ นโยบาย ความน่าเชื่อถือ และปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศที่รัฐบาลผู้ออกสกุลเงินถือครอง นั่นคือการปล่อยมูลค่าของค่าเงินให้เป็นอย่างที่มันเป็นตามกลไกตลาด

ซึ่งการที่สามารถพิมพ์เงินออกมาได้มากเท่าที่ต้องการ ทำให้รัฐบาลและธนาคารมีเครื่องมือและอำนาจค่อนข้างเด็ดขาดในการควบคุมเงินในระบบและกำกับดูแลระบบการเงินของประเทศ

อนาคตของระบบการเงินโลก?

ระบบการเงินของโลกผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการเปลี่ยนแปลง ผ่านความยากลำบาก ผ่านสงครามมาแล้วหลายครั้ง ผ่านทั้งช่วงที่ดีและช่วงที่เลวร้าย ไม่มีใครตอบได้ว่าระบบเงิน Fiat จะเป็นระบบการเงินสุดท้ายที่สมบูรณ์แบบที่สุดของมนุษย์ชาติหรือไม่ หรือระบบ Fait จะถูกแทนที่ด้วย Decentralized finance ในอนาคตอันใกล้ แต่สิ่งเดียวที่แน่นอนคือระบบการเงินจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ชาติตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

เปิดบัญชีซื้อขายกับ INFINOX โบรกเกอร์ชั้นนำเพื่อโต้คลื่นการเงินระดับโลก พร้อมคว้าโอกาสทำกำไรจากระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ได้แล้ววันนี้ https://www.infinox.com/fsc/th/

อ้างอิงจาก

https://www.bullionbypost.co.uk/index/gold/the-gold-standard/

https://www.bullionbypost.co.uk/index/gold/bretton-woods/

https://www.investopedia.com/terms/f/fiatmoney.asp

https://www.ig.com/en/glossary-trading-terms/fiat-currency-definition

https://www.botlc.or.th/item/archive_collection/00000179017

———————————————