แม้ว่าการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมักจะเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น แต่ก็มีประโยชน์ทั้งในการซื้อขายสัญญาการซื้อขายส่วนต่าง (CFD) การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (forex) และการเทรดในระยะสั้น โดยใช้ปัจจัยทางการเงินและเศรษฐกิจมาใช้วิเคราะห์มูลค่าสินทรัพย์และคาดการณ์ในการซื้อขาย

บทความนี้โดยสรุป:

  • การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคือการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และการเงิน
  • ใช้ได้กับทรัพย์สินทุกประเภท
  • การวิเคราะห์ประเภทนี้จะใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเพื่อทำความเข้าใจมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่กำหนด

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคืออะไร?

เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปว่าตลาดการเงินมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือปัญหาห่วงโซ่อุปทาน โดยในกรณีของตลาดหุ้น สถานะการเงินและกิจการภายในของบริษัทก็ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดเช่นกัน ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งสำรวจว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเงินมีผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์อย่างไรบ้าง

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคือราคาตลาดอาจจะไม่ได้สะท้อนมูลค่าจริงๆ ของสินทรัพย์เสมอไป เช่น ถ้ามูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ควรจะอยู่สูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน ก็แสดงว่าสินทรัพย์นั้นมีราคาตลาดที่ต่ำเกินไป ในกรณีนี้นักวิเคราะห์พื้นฐานจะแนะนำให้ซื้อ ราคามีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเมื่อตลาดมีปรับตัว ซึ่งสร้างโอกาสในการขายสินทรัพย์ในราคาที่สูงขึ้น

ประเภทของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

ดังที่เราได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้นเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการซื้อขายหุ้น ในการกำหนดมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นต่าง ๆ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะพิจารณาจากข้อมูล เช่น รายงานผลประกอบการของบริษัท อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ประเภทนี้ยังสามารถใช้กับตราสารอื่น ๆ ได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น ปัจจัยพื้นฐานสำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็คือปัจจัยทางเศรษฐกิจและการคลัง อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเก็บภาษี และเหตุการณ์ทางการเมือง อย่างเช่น Brexit ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของเงินปอนด์ (GBP) ในช่วงเวลานั้น ในทำนองเดียวกัน อุปสงค์และอุปทานก็มีบทบาทอย่างมากในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงานหรือโลหะมีค่า

ดังนั้น เมื่อคุณทำการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน คุณสามารถแบ่งข้อมูลออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ข้อมูลเชิงปริมาณ และข้อมูลเชิงคุณภาพ

ข้อมูลเชิงคุณภาพ

ข้อมูลเชิงคุณภาพหมายถึงข้อมูลที่จับต้องและวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาตลาดของสินทรัพย์ เช่น กฎระเบียบและการกำกับดูแลของสินทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ ข้อตกลงทางการค้า คณะกรรมการบริษัท หรือแม้แต่การสั่งปิดชายแดนของประเทศต่างๆ 

ข้อมูลเชิงปริมาณ

การวิเคราะห์ตลาดเชิงปริมาณเกี่ยวข้องกับการศึกษาปัจจัยที่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ เช่น GDP อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น รายได้ต่อหุ้น ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของข้อมูลเชิงปริมาณในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

ทำไมการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานถึงมีความสำคัญ?

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นการค้นหามูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ เทียบกับราคาสินทรัพย์ที่แสดงอยู่ในตลาด ซึ่งหลักการสำคัญก็คือราคาตลาดอาจไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์เสมอไป และการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์จะทำให้เราสามารถประเมินราคาตลาดของสินทรัพย์ในปัจจุบันได้ว่าอยู่สูงหรือต่ำเกินไป

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่เทรดในระยะยาว (เช่น Position Trader) ที่ต้องการถือสินทรัพย์ไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพราะนักเทรดกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับแนวโน้มในระยะยาวของสินทรัพย์ (เช่น มูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์เมื่อเวลาผ่านไป) มากกว่าการเคลื่อนไหวของราคาในระยะสั้นที่อาจผันผวนไปตามเหตุการณ์ต่าง ๆ

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน VS. การวิเคราะห์ทางเทคนิค

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างแตกต่างจากการวิเคราะห์ทางเทคนิค ทั้งในด้านแนวคิดและการปฏิบัติ

ข้อแตกต่างประการแรกคือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวข้องกับการค้นหามูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้ข้อมูลราคาในอดีตเพื่อคาดการณ์ราคาในอนาคต

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณจากสภาพเศรษฐกิจ การเงิน หรือการเมืองทั่วไป ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะเน้นที่ข้อมูลเชิงปริมาณและราคาที่มาจากกราฟ และอาจวิเคราะห์โดยใช้อินดิเคเตอร์ทางเทคนิค

ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้ทำให้การวิเคราะห์แบบหนึ่งดีกว่าอีกแบบหนึ่ง คุณ อาจใช้การวิเคราะห์แบบใดแบบหนึ่งหรืออาจใช้ทั้งสองแบบพร้อมกันเพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อขาย โดยขึ้นอยู่กับแนวทางการเทรดของคุณและสินทรัพย์ที่คุณต้องการเข้าซื้อขาย 


คุณอาจใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเทรดของคุณ และเริ่มต้นซื้อขายได้ตั้งแต่วันนี้ หรือคุณสามารถทดสอบกลยุทธ์ในการเทรดของคุณโดยใช้บัญชีทดลองที่ไม่มีความเสี่ยง จนเมื่อคุณได้แนวทางการเทรดที่ผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างถี่ถ้วนแล้ว คุณก็สามารถเริ่มต้นการเทรดของคุณได้อย่างสบายใจ