ตลาดการเงินปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันจันทร์ เป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดกำลังหยุดพักหลังปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงเนื่องจากนักลงทุนต้องการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจและข่าวต่างๆ อีกครั้ง ดัชนีหลักของสหรัฐฯ รวมถึง Dow Jones Industrial Average, S&P 500 และ Nasdaq Composite ต่างปรับตัวลดลงเมื่อปิดตลาด สะท้อนท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้นของตลาด ผลที่ตามมาคือการที่นักลงทุนมีการชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับการลงทุน ตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลาง ผลประกอบการของบริษัท และความตึงเครียดทางการเมือง ทำให้นักลงทุนจำเป็นจะต้องมุ่งไปข้างหน้าด้วยความระมัดระวัง ผ่านปัจจัยต่างๆ ที่พร้อมส่งผลกระทบกับตลาดการเงินในโลกแห่งการลงทุนที่ไม่เคยหยุดนิ่งนี้

สรุปประเด็นที่ควรจับตา:
ดาวโจนส์ปรับฐาน หลังการพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงสิ้นสุดลง: ดัชนี Dow Jones Industrial Average ปรับตัวลดลง 0.41% สู่ระดับ 39,313.64 สิ้นสุดรอบของการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงที่เคยนำดัชนีเข้าใกล้ระดับ 40,000 จุด แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาของการขายทำกำไรหลังดัชนีมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก
S&P 500 และ Nasdaq Composite ร่วงลดลงเล็กน้อย สะท้อนการปรับสมดุลของตลาด: ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq Composite ปรับตัวลดลง 0.31% และ 0.27% ปิดที่ 5,218.19 และ 16,384.47 ตามลำดับ เป็นการปรับตัวลดลงหลังดัชนีพุ่งสู่ระดับสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางการประเมินปัจจัยพื้นฐานของตลาด
ตลาดหุ้นยุโรปปิดตลาดบวกได้เล็กน้อย: ตลาดยุโรปเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการปรับขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ธนาคารกลางกำลังตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงิน และการประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยดัชนี Stoxx 600 ปิดตลาดด้วยการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.04% หลังพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ในสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่เมื่อแยกดูเป็นรายกลุ่ม เราจะเห็นความเคลื่อนไหวที่ผสมผสานกัน โดยหุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซเป็นกลุ่มที่นำการปรับตัวขึ้นของดัชนี ปรับเพิ่มขึ้น 0.9% สะท้อนมุมมองเชิงบวกในหุ้นกลุ่มพลังงาน ในขณะที่หุ้นกลุ่มสื่อปรับตัวลดลง 0.7%
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง: ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงสวนทางตลาดหุ้นตะวันตก ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นปิดร่วงลง 1.16% มาอยู่ที่ 40,414.12 จุด เป็นการปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดัชนี Topix ก็ร่วงลง 1.26% สู่ระดับ 2,777.64 จุด ดัชนี CSI 300 ของจีนปิดวันทำการลดลง 0.54% ที่ 3,525.76 จุด ร่วงลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงจบวันด้วยการปิดขึ้นเล็กน้อย สะท้อนบรรยากาศการซื้อขายที่ยังคงแข็งแกร่งแต่แฝงไว้ด้วยความระมัดระวัง ส่วนดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ดิ่งลง 0.4% สู่ 2,737.57 จุด หลังจากที่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี
สหภาพยุโรปสอบสวนบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ภายใต้กฎหมายใหม่: สหภาพยุโรปได้เริ่มการสอบสวนบริษัท Apple, Alphabet, และ Meta เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่บริษัทดังกล่าวอาจไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย Digital Markets Act ซึ่งเป็นสัญญาณของการกำกับดูแลเข้มงวดมากขึ้นต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
สกุลเงินดิจิทัลพุ่งแรง ราคา Bitcoin พุ่งทะลุ 71,000 ดอลลาร์: ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก โดยราคา Bitcoin พุ่งขึ้น 7% สู่ระดับ 71,143.60 ดอลลาร์ ส่วน Ether และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ก็มีการปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคา Ether พุ่งทะลุระดับ 3,400 ดอลลาร์ การฟื้นตัวนี้สะท้อนถึงความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อสกุลเงินดิจิทัล ในฐานะทางเลือกการลงทุนกรณีที่ตลาดยังคงผันผวน
ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐปรับลดลงอย่างน่าผิดหวัง: ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐลดลง 0.3% สู่ระดับ 662,000 หน่วย ซึ่งตรงกันข้ามกับที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น ข้อมูลจุดนี้บ่งชี้ถึงแรงกดดันที่อาจเกิดขึ้นในตลาดที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นตัวบ่งชี้เศรษฐกิจสำคัญ
FTX Estate ขายหุ้นของ Anthropic มูลค่า 884 ล้านดอลลาร์: บริษัท FTX ซึ่งล้มละลายได้ทำข้อตกลงขายหุ้นส่วนใหญ่ใน Anthropic สตาร์ตอัพด้าน AI มูลค่า 884 ล้านดอลลาร์ให้กับ ATIC Third International Investment Company ซึ่งเป็นกองทุนรัฐวิสาหกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

FX วันนี้

จับตาการฟื้นตัวของ GBP/USD ท่ามกลางคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย: คู่เงิน GBP/USD กำลังมีความเคลื่อนไหวที่ส่งสัญญาณในแนวโน้มขาขึ้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการพุ่งทะลุเหนือค่าเฉลี่ย 50 วันที่ระดับ 1.2680 เพื่อยืนยันการพลิกกลับเป็นแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจเป็นการเปิดทางสู่ระดับ 1.2700 โดยมีเป้าหมายถัดไปที่ระดับสูงสุดวันที่ 21 มีนาคม ที่ 1.2803 ในทางกลับกัน หากร่วงลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ที่ 1.2590 อาจทำให้ภาพขาขึ้นเปลี่ยนไป และอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวในแนวโน้มขาลงได้
USD/JPY รักษาระดับใกล้แนวต้านสำคัญ: คู่เงิน USD/JPY ยังคงซื้อขายกันอยู่บริเวณแนวต้าน 151.50 โดยปัจจุบันมีการปรับตัวขึ้น 0.06% สู่ระดับ 151.40 โดยคาดว่าคู่เงินจะสามารถขึ้นทดสอบระดับสูงสุดของปี 2024 ที่เคยทำไว้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ 151.86 โดยมีแนวต้านถัดไปที่ระดับสูงสุดของปี 2023 ที่ 151.90 และระดับสูงสุดในปี 2022 ที่ 151.94 แต่ถ้าหากมีการปรับตัวลง แนวรับแรกอาจอยู่ที่ระดับต่ำสุดของเดือนมีนาคมที่ 146.47 ต่อด้วยที่เส้น SMA 200 วัน ที่ 146.68 ซึ่งการหลุดระดับนี้ลงมาอาจนำไปสู่การลงต่อสู่ระดับต่ำสุดของเดือนกุมภาพันธ์ที่ 145.89 และระดับต่ำสุดของเดือนธันวาคม 2023 ที่ 140.24
USD/CAD เคลื่อนไหวไร้ทิศทางท่ามกลางตลาดที่เงียบเหงา: คู่เงิน USD/CAD เคลื่อนไหวไร้ทิศทางในกรอบแนวต้านระหว่าง 1.3610 ถึง 1.3620 ส่วนอินดิเคเตอร์ต่างๆ ก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ midlines เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ราคายังคงแสดงแนวโน้มในขาขึ้นจากการที่สามารถซื้อขายอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 20 วัน ถ้าหากราคาสามารถพุ่งทะลุแนวต้านได้สำเร็จก็อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงพุ่งขึ้นทดสอบระดับ 1.3700 ในขณะที่การร่วงลงไปต่ำกว่า 1.3550 อาจส่งผลให้เกิดแรงขายหนักขึ้น และอาจนำไปสู่การลงมาทดสอบระดับ 1.3500 อีกครั้ง
ราคาทองคำพุ่งขึ้นท่ามกลางกระแสการปรับลดอัตราดอกเบี้ย: ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความคาดหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ โดยราคาทองคำ Spot ปรับตัวขึ้น 0.5% สู่ระดับ 2,174.51 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่สัญญาฟิวเจอร์สทองคำพุ่งขึ้น 0.8% ปิดที่ 2,176.4 ดอลลาร์

ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น

หุ้น Boeing พุ่งขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร: หุ้นโบอิ้งปรับตัวขึ้น 1.3% หลังจากบริษัทประกาศว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะลาออกในสิ้นปี 2024 ซึ่งข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารนี้อาจนำมาสู่การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัทในอนาคต ซึ่งส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
หุ้น Intel เผชิญแรงกดดันด้านลบ: หุ้น Intel ร่วงลง 1% หลังมีรายงานว่าจีนอาจมีแนวทางใหม่ในการจำกัดการใช้ชิปของ Intel ในเซิร์ฟเวอร์ของรัฐบาล ท่าทีดังกล่าวส่งสัญญาณด้านลบต่อธุรกิจของ Intel ในตลาดที่สำคัญ ทำให้นักลงทุนพากันวิตกกังวลเรื่องรายได้และส่วนแบ่งการตลาดในอนาคต
United Airlines เผชิญแรงกระเพื่อม: หุ้น United Airlines ร่วงลง 4% หลังการประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหรัฐ ว่าจะเพิ่มการตรวจสอบต่อสายการบินนี้จากเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ซึ่งการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้นอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อการดำเนินงานและต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการรับมือกับประเด็นเหล่านี้
Masimo ได้รับแรงหนุนจากข่าวการแยกธุรกิจ: หุ้นของ Masimo พุ่งขึ้น 3.3% หลังจากมีการประกาศว่าคณะกรรมการบริษัทกำลังศึกษาแผนการแยกธุรกิจผู้บริโภคออกมาเป็นบริษัทใหม่ โดยการดำเนินกลยุทธ์แยกส่วนธุรกิจผู้บริโภคครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการมุ่งสู่จุดแข็งของธุรกิจเป็นหลัก
Super Micro Computer พุ่งแรงหลังนักวิเคราะห์ปรับคำแนะนำ: หุ้นของ Super Micro Computer พุ่งขึ้นเกือบ 8% หลัง JPMorgan ปรับคำแนะนำมาเป็นเพิ่มน้ำหนักการลงทุน พร้อมให้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 1,150 ดอลลาร์ ซึ่งมุมมองเชิงบวกนี้มาจากศักยภาพในการปรับตัวขึ้นได้ถึง 18%
Cleveland-Cliffs พุ่งขึ้นหลังข่าวเงินทุนจากรัฐบาล: หุ้นของบริษัทผู้ผลิตเหล็ก Cleveland-Cliffs ปรับตัวขึ้น 1% หลังบรรลุข้อตกลงในการเจรจาขอรับเงินสนับสนุนสูงถึง 575 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงพลังงาน สำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เคลื่อนไหวผสมผสาน: ถึงแม้ดัชนีตลาดหลักจะมีแนวโน้มย่อลง แต่หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์อย่าง Micron Technology และ Nvidia กลับปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.2% และ 1% ตามลำดับ ในขณะที่กองทุน VanEck Semiconductor ETF (SMH) นั้นปรับลดลงเพียงเล็กน้อยที่ 0.2%
Disney พุ่งขึ้นหลังนักวิเคราะห์ปรับคำแนะนำ: หุ้นของ Disney พุ่งขึ้นกว่า 3% หลัง Barclays ปรับคำแนะนำมาเป็นเพิ่มน้ำหนักการลงทุน โดยระบุถึงศักยภาพในการเติบโตต่อไป นอกจากนี้การที่หุ้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนชื่อดัง Nelson Peltz ยังเพิ่มความลึกลับเกี่ยวกับทิศทางกลยุทธ์และการกำกับดูแลของบริษัท
Foot Locker พุ่งแรงหลังโบรกเกอร์ปรับคำแนะนำการลงทุนและโอกาสการฟื้นตัว: หุ้นของ Foot Locker พุ่งกว่า 6.1% หลังจาก Evercore ปรับคำแนะนำการลงทุนมาเป็น outperform โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังในการลงทุนและการพลิกฟื้นกิจการของบริษัท
Rivian ร่วงหลังนักวิเคราะห์แนะนำให้ปรับลดน้ำหนักการลงทุน: หุ้นของ Rivian ร่วง 1.4% หลังมีการปรับคำแนะนำการลงทุนลงมาอยู่ที่ neutral ท่ามกลางความท้าทายในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า การปรับคำแนะนำการลงทุนนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อธุรกิจและโอกาสการเติบโตในอนาคตของ Rivian เนื่องจากอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง
GameStop พุ่งแรงก่อนเปิดผลประกอบการ: หุ้นของ GameStop พุ่งขึ้น 15% ก่อนการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4 โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังในเรื่องการควบคุมต้นทุน และการเปลี่ยนไปสู่สินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น ความคึกคักก่อนประกาศผลประกอบการครั้งนี้แสดงว่านักลงทุนให้ความสนใจกับกลยุทธ์การดำเนินงานและธุรกิจของ GameStop
ตลาดการเงินได้มีการหยุดพักหลังจากที่ปรับตัวขึ้นก่อนหน้านี้ โดยนักลงทุนเริ่มกลับมาประเมินข้อมูลและข่าวสารทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางไปจนถึงรายได้ของบริษัทและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ภาพรวมของการลงทุนยังคงมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากหุ้นของบริษัทชั้นนำในภาคเทคโนโลยีต่างเผชิญความท้าทายในด้านการกำกับดูแล และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักลงทุนที่ต้องการจะก้าวต่อไปจำเป็นต้องมีความสามารถในการปรับตัว การวางกลยุทธ์ในระยะยาว รวมถึงการติดตามสถานการณ์และสัญญาณทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ในขณะที่การพักตัวของดัชนีหลักๆ ส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นที่แฝงไว้ด้วยความระมัดระวัง แต่ความยืดหยุ่นของบางภาคธุรกิจและความกระหายต่อเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น AI แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของตลาดและการค้นหาโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง